เกมส์

รวมโปร

รวมรีวิว

ลงขายฟรี

วิธีสั่งซื้อ
ทางลัด
กำลังโหลดหน้าเพจ
พระศาสนจักรคาทอลิก แผ่นดินโลก

วาติกัน

วาติกัน

แชร์ 455

จากพระวจนะสู่การกำเนิดวาติกัน

"เราบอกท่านว่า ท่านคือศิลา เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้ เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้ทุกสิ่งที่ท่านจะผูกบนแผ่นดินนี้ จะผูกไว้ในสวรรค์ด้วย ทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในแผ่นดินนี้ ก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย" (มัทธิว 16:18-19)

นี่คือ คำสั่งของพระเยซูที่ตรัสมอบหน้าที่นี้ไว้ให้แก่เปโตร และเปโตรได้ส่งต่อกุญแจอาณาจักรสวรรค์แก่บรรดาศิษย์ของเปโตรตลอดระยะเวลา 34 ปีที่เมืองอันทิโอกและกรุงโรม เมื่อเปโตรได้ตายลงจากการถูกตรึงกางเขนในกรุงโรม ร่างของเปโตรก็ถูกฝังเอาไว้ที่ภูเขาวาติกันตั้งแต่นั้นจนถึงวันนี้



ที่ภูเขาวาติกันมีอะไร

ที่ภูเขาวาติกันมีร่างของเปโตรถูกฝังไว้ และพระศาสจักรคาทอลิกตั้งวางอยู่บนหลุมศพของเปโตร ตามพระวจนะที่ว่า เปโตรคือศิลา เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้ หลังจากเปโตรตายไปแล้ว 400 ปี ก็มีการสร้างโบสถ์ไว้บนหลุมฝังศพของเปโตร ก่อนที่พระศาสนจักรคาทอลิกจะมีการสร้างตัววิหารหลังใหม่ขึ้นบนที่เดิม ในปี คศ. 1506 และ ตั้งชื่อว่า 'มหาวิหารเซนปีเตอร์' จนถึงปัจจุบัน



ภูเขาวาติกันจึงเป็นจุดเริ่มต้นการสานต่ออำนาจแห่งกุญแจ

เพราะฤทธานุภาพของพระเจ้าดำรงอยู่ชั่วนิจนิรันดร์ พระศาสนจักรคาทอลิกเชื่อว่า ฤทธานุภาพของพระเจ้ายังคงประทับอยู่กับร่างของเปโตร (กิจการ 5:15, กิจการ 19:12, 2 พกษ 13:20-21) ดังนั้น การสานต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เปโตรได้ผูกและแก้ไว้ตามการทรงนำของพระจิต ดังที่ปรากฏในจดหมายของเปโตร จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะกระทำเริ่มต้นจากเปโตรผู้เป็นศิลาตามพระดำรัสของพระเยซูคริสต์ พระศาสนจักรคาทอลิกโดยการทรงนำของพระจิต จึงเลือกภูเขาวาติกันซึ่งเป็นที่ฝังร่างของเปโตร ให้เป็นศูนย์กลางอำนาจการบริหารการปกครองพระศาสนจักรทั่วโลก เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าตลอดไปเป็นนิจ



กุญแจสวรรค์อำนาจในการผูกและแก้ที่ส่งต่อกัน

กุญแจของพระเยซูคริสต์ที่มอบให้กับเปโตร คือ หน้าที่ (หน้าที่มาพร้อมกับสิทธิ์อำนาจของพระจิต) หน้าที่นั้น คือ เปิดและปิดประตูสวรรค์ ผูกและแก้เงื่อนไขใด ๆ ของระเบียบการปกครองของพระศาสนจักร เพราะเปโตรไม่ได้เป็นแค่หัวหน้าของคริสตจักรที่เปโตรสร้างขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นหัวหน้าของบรรดาอัครสาวกด้วย (ยอห์น 21:15, ลูกา 22:31) เปโตรจึงมีหน้าที่ดูแลรักษาระเบียบวินัยเพื่อบริหารหมู่คณะ, การมอบอำนาจ, การประกาศสิ่งที่ต้องเชื่อและต้องทำ, ตัดสินว่าสิ่งใดเหมาะสม หรือ ไม่เหมาะสม ตามการทรงนำของพระจิต (พระจิตผู้ซึ่งนำอยู่เหนือเปโตรเป็นผู้กระทำ) และเมื่อเปโตรตัดสินอย่างไร พระเจ้าจะทรงรับรองตามนั้นในสวรรค์ด้วย

สัญญาแห่งอำนาจนี้ไม่ได้ใช้กับเปโตรเท่านั้น แต่ส่งมอบต่อกันได้กับผู้ที่สืบตำแหน่งหัวหน้าของคริสตจักรต่อจากเปโตรด้วย เพราะพระเยซูคริสต์ทรงมุ่งหมายที่จะรักษาพระศาสนจักรให้คงอยู่จนกว่าพระองค์จะเสด็จกลับมาอีกครั้ง (พระศาสนจักร คือ การทำงานของพระจิต)

เมื่อสงครามฝ่ายวิญญาณระหว่างพระเจ้ากับปีศาจยังไม่สิ้นสุดลง อำนาจของกุญแจสวรรค์ยังคงต้องส่งต่อให้แก่ผู้สืบทอดต่อจากเปโตร เพื่อให้พระศาสนจักรโดยพระจิตสามารถบริหารการปกครองคนจำนวนมากที่เติบโตขึ้น โดยอาศัยอำนาจของกุญแจสวรรค์เพื่อให้สามารถการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง กฏระเบียบวินัยของพระศาสนจักร ให้ทันตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และ สวรรค์จะรับรองการผูกและแก้ของพระศาสนจักรคาทอลิกตลอดไปจนกว่าพระเยซูคริสต์จะเสด็จกลับมาครั้งที่สองนั่นเอง

ด้วยสิทธิ์อำนาจแห่งกุญแจอาณาจักรสวรรค์ที่พระศาสนจักรคาทอลิกสืบต่อมาจากอัครสาวกเปโตรโดยตรงนี้เอง พระศาสนจักรคาทอลิกจึงมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว และ มีจำนวนผู้ติดตามมากที่สุดในโลก 1 พันล้านกว่าคน ดังพระวจนะที่ว่า "ประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสนจักรได้"



จากวาติกันสู่การแตกขยาย

เส้นทางประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรคาทอลิกซึ่งขับเคลื่อนโดยอำนาจพระจิตเจ้าในระยะ 2,000 กว่าปี ก่อให้เกิดคริสตจักรแผ่ขยายไปทั่วโลก มีจารีต ธรรมเนียมปฏิบัติ โดยมีเส้นไทม์ไลน์ที่เข้าใจง่ายดังนี้ วาติกัน ภาพประกอบจาก WikiPedia



วาติกันในปัจจุบัน

ปัจจุบันนครรัฐวาติกันอยู่ในสถานะเป็นรัฐเอกราช ตามสนธิสัญญาลาเตรัน ตั้งแต่ คศ. 1929 โดยนครรัฐวาติกันจะยอมรับว่า ตัวเองเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอิตาลี และรัฐบาลอิตาลีก็ประกาศยอมรับว่า นครรัฐวาติกันเป็นรัฐอิสระมีเอกราชปกครองตนเองและตั้งอยู่ในพื้นที่ของกรุงโรม ประเทศอิตาลี

นครรัฐวาติกันมีขนาดพื้นที่เล็กมาก คือ 1.29 ตารางกิโลเมตร อาณาเขตครอบคลุมภูเขาวาติกัน โดยมีกำแพงและอาคารบางส่วนเป็นเขตพรมแดน มีระบบการปกครองเป็นสมบูรณายาสิทธิราช คือ อำนาจทั้งหมดเป็นของพระสันตะปาปา ซึ่งเป็นองค์พระประมุขของรัฐ และพระองค์จะมีอำนาจตลอดไปจนกว่าจะสิ้นพระชนม์ลง หรือ สละตำแหน่ง วาติกันมีกองทัพเป็นของตัวเองโดยทหารสวิสจำนวน 100 กว่านายเพื่อปกป้องพระประมุขและประชากรของรัฐวาติกัน

ประชากรของวาติกันมีอยู่ประมาณ 1,400 กว่าคนเท่านั้น ทุกคนมีหนังสือที่ถือสัญชาติวาติกัน ส่วนเชื้อชาติวาติกันจะไม่มี จึงให้แต่ละบุคคลถือเชื้อชาติเดิมที่ได้รับมา พลเมืองวาติกันประกอบด้วยองค์สันตะปาปา พระคาร์ดินัล เจ้าหน้าที่ประจำวาติกัน และทหารสวิส วาติกันเป็นศูนย์กลางอำนาจการปกครองของพระศาสนจักรคาทอลิกที่เติบโตในดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลก

รัฐวาติกันประกอบด้วยพระราชวังอันเป็นที่ประทับของพระสันตะปาปา, มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ อันเป็นศูนย์รวมแห่งศิลปะที่มนุษย์อุทิศแด่พระบุตรของพระเจ้า, พิพิธภัณฑ์อันเต็มไปด้วยโบราณวัตถุมีคุณค่า และหอสมุดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกบรรจุเอกสารโบราณมากมายมหาศาล

พระสันตะปาปาองค์พระประมุขทรงอยู่ในทั้ง 2 สถานะ คือ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของนครรัฐวาติกัน และ ทรงเป็นประมุขของพระศาสนจักรคาทอลิก ดังนั้นเมื่อพระสันตะปาปาเสด็จเป็นแขกของประเทศใด ประมุขสูงสุดของประเทศนั้น ๆ จะเป็นผู้ต้อนรับพระสันตะปาปาด้วยตัวเองเสมอ อันเป็นธรรมเนียมสัมพันธไมตรีการทูตระหว่างประเทศที่ถือปฏิบัติเหมือนกันทั้งโลก



ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและนครรัฐวาติกัน

ความสัมพันธ์ไทย-วาติกันเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1662 เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปา Alexander ที่ 7 ได้จัดส่งคณะมิชชันนารีชุดแรกเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับเป็นคณะผู้ก่อตั้งคริสตศาสนาในไทยเป็นคณะแรก

  • ในปี ค.ศ.1897 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ ประพาสนครรัฐวาติกัน และได้ทรงพบสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 นับเป็นการแลกเปลี่ยนการเยือนเป็นครั้งแรกในระดับประมุขของประเทศระหว่างราชอาณาจักรไทยและศาสนจักรวาติกัน

  • ในปี ค.ศ.1934 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จฯ เยือนกรุงโรม และทรงพบสมเด็จพระสันตะปาปาปีอัสที่ 11

  • ในปี ค.ศ.1960 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จฯ ประพาสนครวาติกัน และทรงพบสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23

และในวันที่ 20-23 พฤศจิกายน 2019 พระสันตะปาปาฟรานซิส องค์พระประมุขลำดับที่ 266 ได้เสด็จเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะอาคันตุกะของราชอาณาจักรไทย




ประวัติของเปโตรผู้เป็นศิลาแรกของพระศาสนจักรในแผ่นดินโลก

เปโตรเป็นอัครสาวกชาวเมืองเบธไซดา แคว้นกาลิลี ประเทศปาเลสไตน์ เดิมเปโตรมีชื่อว่า "ซีโมน" แต่พระเยซูทรงเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่าเปโตรซึ่งมีความหมายว่า "ศิลา" เปโตรเป็นบุตรของยอห์น มีน้องชายชื่ออันดรูว์ ซึ่งอันดรูว์เป็นผู้บอกให้เปโตรให้ติดตามเป็นศิษย์ของพระเยซูคริสต์

เปโตรเป็นพยานถึงคูหาพระศพที่วางเปล่าของพระเยซูคริสต์ และ เป็นพยานเห็นพระเยซูคริสต์ที่ฟื้นคืนพระชนม์แล้ว (ลูกา 23:34)

เปโตรมีอาชีพเป็นชาวประมง มีนิสัยมุทะลุใจร้อน พูดขวานผ่าซาก ตรงไปตรงมา และเด็ดเดี่ยวเหมือนศิลา จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าของอัครสาวก ( มธ.10.2, มก.3.16, ลก.6.14) พระเยซูคริสต์ทรงมอบหน้าที่สำคัญให้เปโตร คือ เป็นศิลารากฐานของพระศาสนจักร (มธ.16.18) และเป็นชุมพาบาลเลี้ยงดูฝูงแกะ (ยน.21.15)

หลังจากเปโตรได้รับพระจิตแล้ว เปโตรก็ทำหน้าที่เหล่านี้อย่างชัดแจ้ง เช่น
  • เป็นคนพูดต่อหน้าประชาชนแทนอัครสาวกอื่นๆ (กจ.1.14-36)
  • เป็นคนเปิดประตูรับคนต่างๆ ชาติ คือนายทหารโรมันกับครอบครัว เข้ามาเป็นคริสตชนกลุ่มแรก (กจ.10.48)
  • เป็นคนตัดสินปัญหาในที่ประชุมที่กรุงเยรูซาเล็มเรื่องไม่บังคับให้คริสตชนต่างชาติต้องเข้าสุหนัด (กจ.15.7-11)

เปโตรเริ่มต้นประกาศข่าวประเสริฐที่เมืองอันทิโอกในปี ค.ศ. 40 และกลับมาที่กรุงเยรูซาเล็มในปี ค.ศ.42 เขาก็ถูกจับขังคุกเพื่อรอประหารชีวิต แต่ทูตสวรรค์ได้มาช่วยเปโตรออกจากคุก (กจ.12.3-10) และให้เปโตรออกไปประกาศข่าวประเสริฐในแถบปาโดเซีย ปอนตุส บีธีเนีย กาลาเทีย โครินธ์ และทีอื่น ๆ อีกมาก เป็นเวลาถึง 8 ปี เปโตรจึงกลับมาที่กรุงเยรูซาเล็มอีกครั้งเพื่อตัดสินปัญหาคริสตชนต่างชาติ และ ย้ายไปอยู่กรุงโรมเพื่อปกครองกลุ่มคริสตชนที่นั่นจนวาระสุดท้ายของชีวิต เปโตรได้ทำหน้าที่ของท่านอย่างครบถ้วน คือ เป็น "ศิลาหัวมุม" ของพระศาสนจักรโดยรวมชาวยิวและคนต่างศาสนาให้เข้ามาอยู่ภายในอาคารเดียวกันได้

ช่วงวาระสุดท้ายของเปโตรเกิดขึ้นในสมัยจักรพรรดิ์เนโร ซึ่งเป็นผู้จุดไฟเผากรุงโรม แล้วกล่าวหาว่าคริสตชนเป็นผู้กระทำ ส่งผลให้คริสตชนถูกจับกุม ถูกนำไปทรมานและสังเวยชีวิตในสนามโคลีเซียมเป็นเครื่องเล่นของชาวโรมัน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นเวลายาวนาน 4 ปี คือ ค.ศ. 64 - 68 และ เปโตรก็ถูกตรึงกางเขนจนตายในปี ค.ศ. 67

มีตำนานเล่ากันว่า ในช่วงเวลาที่มีการจับกุมคริสตชนไปฆ่าทิ้งนั้น มีผู้บอกให้เปโตรหลบหนีไปก่อนเพราะเปโตรเป็นหัวหน้าชุมพาบาล หากเปโตรตาย ฝูงแกะก็จะกระจัดกระจายเพราะไร้ชุมพาบาลดูแล เปโตรเชื่อตามนั้น จึงได้หลบหนีจนพ้นกำแพงกรุงโรม

ในขณะนั้นเองเปโตรก็พบพระเยซูคริสต์อีกครั้ง แต่พระองค์แบกกางเขนเดินมุ่งหน้ากลับเข้าไปกรุงโรม เปโตรตกใจจึงคุกเข่าแล้วทูลถามพระองค์ว่า "พระอาจารย์จะเสด็จไปไหนหรือ"

พระเยซูคริสต์ตรัสตอบเปโตรว่า "เปโตรเอ๋ย เราจะไปกรุงโรมเพื่อให้เขาตรึงกางเขนเราอีกครั้งหนึ่ง" เปโตรจึงได้สติ หันกลับเข้ากรุงโรมตามพระอาจารย์ไป เพื่อยอมให้เขาจับตรึงกางเขน

ในขณะที่กำลังจะตั้งกางเขนลงพื้นดิน เปโตรก็สำนึกได้ว่าตนเองเป็นคนทรยศ ไม่คู่ควรที่จะตายบนไม้กางเขนเยี่ยงพระอาจารย์ จึงขอร้องทหารโรมันให้ปักหัวไม้กางเขนของตนลงพื้นดินแทน เอาศรีษะลงดิน และ เอาเท้าชี้ฟ้า

เปโตรได้ประทับตราภาระกิจหน้าที่นี้อย่างสมบูรณ์ตามพระอาจารย์ของท่าน คือ การหลั่งโลหิตลงแผ่นดินโลก เพื่อยืนยันถึงความเชื่ออย่างสุดจิตวิญญาณ

หลังการประกาศการรับรู้ของพระศาสนจักรคาทอลิกว่า พระเจ้าได้รับเปโตรขึ้นไปยังสวรรค์แล้ว ประชาชนต่างหลั่งไหลมาคำนับศพของนักบุญเปโตร เป็นเบื้องแรกเมื่อเดินทางมาถึงพระราชวังวาติกันอยู่เสมอทุกวัน

หากมองขึ้นไปเบื้องบนหลังคาทรงโดมภายในมหาวิหารนักบุญเปโตร ก็จะเห็นภาพจิตรกรรมตระการตา และจารึกภาษาลาตินบนแผ่นพื้นทองเป็นพระวจนะที่พระเยซูคริสต์ตรัสแก่นักบุญปีเตอร์ว่า

“ท่าน คือ เปโตร บนศิลานี้เราตั้งพระศาสนจักรของเราไว้ และเราจะมอบกุญแจแผ่นดินสวรรค์ให้ไว้แก่ท่าน”

pray

แชร์ 455



เรื่องเกี่ยวข้องจากโซเชียล

facebook-logo-svgrepo-com.svg
facebook-logo-svgrepo-com.svg
facebook-logo-svgrepo-com.svg
facebook-logo-svgrepo-com.svg
facebook-logo-svgrepo-com.svg
facebook-logo-svgrepo-com.svg
คลิก  เพิ่มเพื่อน  รับข่าวแวดวงคาทอลิกถึงหน้าจอ