เกมส์

รวมโปร

รวมรีวิว

ลงขายฟรี

วิธีสั่งซื้อ
ทางลัด
กำลังโหลดหน้าเพจ
ชีวิตและกิจกรรมคาทอลิก

พิธีกรรมและศีลศักดิ์สิทธิ์

สัตบุรุษ


แชร์ 471

พระศาสนจักรกำหนดไว้ทั้งหมด 7 ศีลศักดิ์สิทธิ์

ศีลศักดิ์สิทธิ์ 7 ประการ (7 Holy Sacraments) เป็นเครื่องหมายภายนอกอันศักดิ์สิทธิ์ที่เรามองเห็นและสัมผัสได้ ซึ่ง “พระเยซูเจ้า ทรงตั้งขึ้น” เพื่อประทานพระหรรษทานให้แก่ผู้รับศีลศักดิ์สิทธิ์ คือ
  1. ศีลล้างบาป (Baptism)
  2. ศีลกำลัง (Confirmation)
  3. ศีลอภัยบาป (Penance)
  4. ศีลมหาสนิท (Eucharist / Holy Communion)
  5. ศีลเจิมคนไข้ (Anointing of the Sick)
  6. ศีลบวช (Holy Orders)
  7. ศีลสมรส (Martrimony)



ศีลล้างบาป (Baptism) คือ ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่สุด

เป็นศีลเริ่มต้นที่ผู้จะเป็นลูกของพระเจ้าจะต้องผ่านการรับศีลล้างบาป โดยรับเพียงแค่ครั้งเดียวในชีวิตเท่านั้น เพื่อให้มีเครื่องหมายหรือ “ตรา” ที่ประทับอยู่ในวิญญาณอย่างถาวร ไม่มีวันลบเลือน ได้เกิดใหม่ฝ่ายจิตวิญญาณ เป็นบุตรบุญธรรมของพระเจ้า และ ได้เป็นสมาชิกของพระศาสนจักร โดยศีลล้างบาปจะเป็นการล้างบาปกำเนิด และ บาปอื่น ๆ ที่เคยกระทำมาทั้งสิ้น ถ้าไม่ได้รับศีลล้างบาปจะไม่สามารถรับศีลสำคัญอีก 6 ศีลได้เลย

ผู้ที่ผ่านการเรียนคำสอนคาทอลิกอย่างถูกต้องตามข้อกำหนดของพระศาสนจักร (ใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการเรียนคำสอน) ก็จะได้รับการถามอีกครั้งว่า 'เขามีความตั้งใจแน่วแน่ในการจะเข้ารับศีลล้างบาปหรือไม่' ถ้าเขายืนยันความแน่วแน่ก็จะได้รับการโปรดศีลล้างบาป

โดยผู้โปรดศีลล้างบาปได้ คือ พระสังฆราช, พระสงฆ์ , สังฆานุกร เท่านั้น (ยกเว้นกรณีจำเป็นเพื่อช่วยคนที่กำลังจะตายให้ได้รับศีลล้างบาป ทุกคนสามารถโปรดศีลล้างบาปให้ผู้อื่นได้ - เพราะต้องมีการปรกมือเหนือหัว ผู้กระทำจึงต้องเตรียมชีวิตจิตวิญญาณมาอย่างดี)

เครื่องหมายสำคัญของศีลล้างบาปมี 4 อย่าง คือ น้ำ, เทียน, ผ้าขาว, น้ำมันคริสมา

  1. น้ำ หมายถึง การชำระล้างบาปกำเนิดและการเกิดใหม่ในพระตรีเอกภาพ โดยการจุ่มตัวลงไปในน้ำจนมิดหัวสักครู่หนึ่ง คือ การตายไปแล้วจากชีวิตเก่า และ เมื่อโผล่พ้นน้ำมาลมหายใจแรกที่สูดเข้าไป ก็คือ ชีวิตใหม่

  2. น้ำมันคริสมา หมายถึง การประทับตราของพระเจ้าลงบนกายและจิตวิญญาณของเรา โดยผู้โปรดศีลล้างบาปจะเขียนกางเขนบนหน้าผากด้วยน้ำมันคริสมา

  3. ผ้าขาว หมายถึง การสวมใส่ชีวิตใหม่ในพระคริสต์ เป็นชีวิตที่ขาวสะอาดซึ่งเราจะต้องรักษาเอาไว้ตลอดชีวิต

  4. เทียน หมายถึง การมอบแสงสว่างของพระคริสต์ เพื่อช่วยนำทางเราให้ประพฤติดี เป็นแบบอย่างชีวิตที่ดี ให้เป็นแสงสว่างให้กับผู้อื่น




ศีลมหาสนิท (Eucharist / Holy Communion)

ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูคริสต์เป็นผู้ตั้งขึ้น ในวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ในระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระองค์ โดยมอบพระกายและพระโลหิตของพระองค์ให้เป็นศีลมหาสนิท เพื่อให้เป็นอาหารสำหรับฝ่ายจิตวิญญาณ เพราะพระเยซูคริสต์ต้องการอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์ เป็นอาหารสำหรับฝ่ายวิญญาณ และ เป็นเครื่องบูชาเพื่อมนุษย์ตลอดไป

ศีลมหาสนิทเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่รับได้ไม่จำกัดตลอดชีวิต แต่จะต้องมีการเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีก่อนเท่านั้น ดังนั้น การจะเข้าไปรับศีลมหาสนิทจะต้องเตรียมวิญญาณให้ดีก่อน โดยไม่ตกอยู่ในสถานะของบาปหนัก รับศีลอภัยบาปมาเรียบร้อยและทำพลีกรรมชดใช้โทษบาปเป็นอย่างดี อดอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ ก่อนรับศีลมหาสนิท กระคุ้นความรักและความกระหายที่อยากจะรับศีลมหาสนิทใกล้ชิดกับพระองค์

ถ้าเรามีบาปหนักแล้วเข้าไปรับศีลมหาสนิท จะกลายเป็นการทำบาปหนัก ซึ่งเรียกว่า ทุราจารศีลมหาสนิท ซึ่งต้องรีบรับศีลอภัยบาปและชดใช้โทษบาปทันที บาปหนัก เช่น การฆ่าคนไม่ว่าจะโดยวิธีการใด, การเข้าร่วมก่อการร้ายทำร้ายผู้คน ฯลฯ




ศีลอภัยบาป (Penance)

"จงรับพระจิตเจ้าเถิด ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการให้อภัยด้วย" (ยอห์น 20:22-23) พระเยซูคริสต์ทรงตั้งศีลอภัยบาปขึ้นมา เพราะแม้ว่าเราจะได้รับศีลล้างบาปแล้ว แต่พวกเราก็ยังทำบาปกันอยู่ หรือ ยังกลับไปตกอยู่ในความบาปได้อีก พระองค์ทรงตั้งศีลนี้เพื่ออภัยความผิดและเยียวยาพวกเรา

ก่อนที่เราจะเข้าไปรับศีลอภัยบาป เราจะต้องอธิษฐานขอต่อพระเจ้า โปรดช่วยให้เราได้เห็นถึงการบาปที่เราได้กระทำมา ให้มีสำนึกในความผิดที่เราได้ทำไป ได้ขอโทษต่อพระองค์ และ ตั้งใจที่จะไม่ทำบาปเหล่านั้นอีกเลย

แล้วจึงค่อยมาสารภาพบาปกับพระสงฆ์ ในห้องฟังแก้บาป โดยพระสงฆ์จะเป็นผู้กล่าวให้อภัยโทษบาปของเรา (โดยสิทธิ์อำนาจที่พระองค์มอบให้แก่พระสงฆ์) และบอกให้เราไปทำกิจใช้โทษบาปอะไรบ้าง เช่น สวดสายประคำ, อดเนื้อ อดอาหาร, ทำกิจเมตตาสงเคราะห์ผู้ป่วย ฯลฯ

จุดสำคัญที่สุดของศีลอภัยบาป คือ การที่ตัวเราเป็นทุกข์ถึงบาป เสียใจที่ได้กระทำบาป ทำไม่ดีต่อตัวเราและผู้อื่น พร้อมกับมีความตั้งใจที่จะไม่ทำบาปนั้นอีก โดยพระศาสนจักรพิจารณาบาปตามพระบัญญัติ 10 ประการ, บทบัญญัติพื้นฐานของพระศาสนจักร, บาปต้น 7 ประการ (พยศชั่ว) แยกได้ดังนี้

ความรักต่อพระเจ้า
  1. ลูกไม่ได้ไปร่วมพิธีบูชาของพระคุณในวันอาทิตย์
  2. ลูกมาไม่ทันพิธีบูชาขอบพระคุณบ่อย ๆ
  3. ลูกเกียจคร้านในการสวดภาวนา
  4. ลูกเบื่อหน่ายและหนีเรียนคำสอน/เรียนพระคัมภีร์
  5. ลูกบ่นว่าพระเจ้า เมื่อไม่พอใจ
  6. ลูกจองหองและโอ้อวดต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์
  7. ลูกไปดูดวง เชื่อคำทำนายจากหมอดู
ความรักต่อเพื่อนมนุษย์
  1. ลูกไม่ได้ให้ความเคารพนับถือ ไม่เชื่อฟังบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่
  2. ลูกไม่ได้ช่วยเหลืองานผู้อื่น
  3. ลูกพูดจาไม่ดีกับเพื่อนมนุษย์
  4. ลูกทะเลาะกับพี่น้อง
การเคารพต่อชีวิตผู้อื่น
  1. ลูกดูถูกเยาะเย้ยผู้อื่น
  2. ลูกทำให้ผู้อื่นโกรธ หรือ โมโหผู้อื่น
  3. ลูกพูดกับผู้อื่นด้วยคำหยาบคาย
  4. ลูกนินทาหรือใส่ร้ายผู้อื่น
  5. ลูกคิดไม่ดีต่อผู้อื่น
  6. ลูกล้อเลียนผู้อื่นทำให้เขาอับอาย
  7. ลูกแกล้งผู้อื่น
  8. ลูกหลอกลวง ขโมยของผู้อื่น
  9. ลูกยืมเงินหรือสิ่งของและไม่ได้คืนเขา
  10. ลูกทำลายทรัพย์สินของคนที่ลูกไม่ชอบและสิ่งของสาธารณะ
  11. ลูกไม่ได้ช่วยเหลือคนยากจน หรือ ผู้ที่ลำบาก
  12. ลูกประมาททำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
  13. ลูกไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับผู้อื่น
การเคารพต่อเพศ
  1. ลูกได้อ่านหรือดูสื่อลามก หนังโป๊
  2. ลูกนำสื่อลามก ทะลึง ไปให้ผู้อื่นดู
  3. ลูกได้พูดจา คิดส่อลามก กระทำลามก
การละเลย
  1. ลูกไม่ได้ทำความดีเมื่อมีโอกาส
  2. ลูกไม่มีน้ำใจแบ่งปันให้ผู้อื่นที่เดือดร้อน
  3. ลูกเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีกับคนอื่น
  4. ลูกเกียจคร้านและให้เวลาเสียไปโดยเปล่าประโยชน์
  5. ลูกไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี
  6. ลูกติดโทรศัพท์ ติดเกมส์จนบกพร่องในการงาน การดูแลชีวิตตัวเอง
การให้อภัย
  1. ลูกเกลียดชังบางคน
  2. ลูกแสดงความฉุนเฉียวต่อคนที่ไม่ชอบ
  3. ลูกไม่ได้ให้อภัยแก่คนที่ทำผิดต่อลูก
ความจริงใจ
  1. ลูกอิจฉาริษยา
  2. ลูกดีใจ / สะใจที่บางคนได้รับสิ่งเลวร้าย
  3. ลูกโกหก หรือ สาบานเท็จ
  4. ลูกกระทำทุจริต
  5. ลูกลำเอียง เลือกปฏิบัติ
ความสัมพันธ์กับสิ่งสร้าง
  1. ลูกให้บุคคลหรือสิ่งอื่นมาก่อนพระเจ้า
  2. ลูกอยากมี อยากได้ตลอดเวลา
  3. ลูกใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย
  4. ลูกโลภอาหารบ่อย ๆ
  5. ลูกทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย
  6. ลูกรังแก ทำร้ายสัตว์
  7. ลูกเล่นการพนัน
ความสัมพันธ์กับพระศาสนจักร
  1. ลูกไม่ได้ไปร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณในวันอาทิตย์ และ ในวันฉลองบังคับ
  2. ลูกไม่ได้อดเนื้อ อดอาหาร ในวันที่พระศาสนจักรกำหนด
  3. ลูกทุราจารศีลอภัยบาป โดยตั้งใจไม่สารภาพบาปทั้งหมด
  4. ลูกไปรับศีลมหาสนิท โดยที่ยังมีบาปหนักอยู่
  5. ลูกไปรับศีลมหาสนิท โดยมิได้อดอาหารก่อน
  6. ลูกเลินเล่อในการทำกิจใช้โทษบาปหลังจากรับศีลอภัยบาป



ศีลกำลัง (Confirmation)

"พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลาย ตรัสว่า จงรับพระจิตเจ้าเถิด" (ยอห์น 20:21-22) ศีลกำลังจึงเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่อัญเชิญพระหรรษาทานแห่งพระจิตเจ้ามาสู่วิญญาณ โดยการปรกมือ และ ทำการเจิมด้วยน้ำมันคริสมา ประทับตราของพระคริสต์ลงดวงจิตวิญญาณไม่ลบเลือน ทำเพียงครั้งเดียวก็มีผลตลอดไป

ศีลกำลังจึงเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่สองต่อจากศีลล้างบาป ผู้ที่รับศีลกำลังแล้วสามารถเผยแผ่และปกป้องคำสั่งสอนของพระคริสตเจ้าและพระศาสนจักรได้อย่างกล้าหาญ โดยพระจิตเจ้าจะเป็นผู้ประทานพระพร 7 ประการ เพื่อให้เราได้มีส่วนรวมในพันธกิจของพระเยซูคริสต์

โดยพระจิตเจ้ามีภาพสัญลักษณ์ทั้งหมดดังนี้
  1. นกพิราบ หมายถึง สันติภาพ ความสุภาพถ่อมตน และความหวัง "พระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือพระองค์ มีรูปร่างที่เห็นได้ดุจดังนกพิราบ แล้วมีเสียงดังจากสวรรค์ว่า ท่านเป็นบุตรสุดที่รักของเรา เป็นที่โปรดปรานของเรา" (ลูกา 3:22)

  2. ไฟ หมายถึง การชำระให้บริสุทธิ์ ร้อนรน ส่องสว่างนำทาง "เขาเห็นเปลวไฟลักษณะเหมือนลิ้น แยกไปอยู่เหนือศรีษะของเขาแต่ละคน ทุกคนได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม" (กิจการ 2:3)

  3. น้ำ หมายถึง ชำระล้าง ให้ชีวิตใหม่ ให้ความสมบูรณ์ "แต่ผู้ที่ดื่มน้ำซึ่งเราจะให้นั้น จะไม่กระหายอีก น้ำที่เราจะให้เขาจะกลายเป็นธารน้ำในตัวเขา ไหลรินเพื่อชีวิตนิรันดร" (ยอห์น 4:14)

  4. ลม มองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง แต่เราสัมผัสและมีชีวิตอยู่ได้เพราะพลังของลม "ลมย่อมพัดไปในที่ลมต้องการ ท่านได้ยินเสียงลมพัด แต่ไม่รู้ว่าลมพัดมาจากไหนและจะพัดไปไหน ทุกคนที่เกิดจากพระจิตก็เป็นเช่นนี้" (ยอห์น 3:8)

  5. มือ ซึ่งพระเยซูใช้การปกมือเพื่อรักษาผู้ป่วย ใช้การอวยพรแก่เด็ก ๆ และ สาวกใช้การปกมือเพื่อประทานพระจิต "เปโตรและยอห์นจึงปกมือเหนือเขาทั้งหลายและเขาเหล่านั้นก็ได้รับพระจิตเจ้า" (กิจการ 8:17)

  6. นิ้ว หมายถึง พระจิตเจ้าซึ่งเป็นนิ้วพระหัตถ์ขวาของพระเจ้า "พระบัญญัติของพระเจ้าถูกจารึกไว้บนศิลา ด้วยนิ้วพระหัตถ์ของพระเจ้า" (อพยพ 31:18)

  7. เมฆและแสงสว่าง หมายถึง ความสว่างของพระจิตเจ้าจะเผยความจริงของพระเจ้าแก่เรา "พระจิตเจ้าประทับในเมฆ นำชาวอิสราเอลในถิ่นทุรกันดาร" (อพยพ 40:36-38)




ศีลบวช (Holy orders)

ศีลบวชเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งพระเยซูเป็นผู้ตั้งขึ้นพร้อม ๆ กับศีลมหาสนิท "จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด" (ลูกา 22:19) ซึ่งหมายความว่า พระเยซูมีพระประสงค์ให้อัครสาวกทำพิธีมหาสนิท อัครสาวกจึงได้รับการตั้งให้เป็นผู้กระทำพิธีมหาสนิท และ ให้พันธกิจที่พระเยซูฝากไว้กับบรรดาอัครสาวกนั้นได้รับการปฏิบัติ รักษา สืบทอดต่อกันไปจนกว่าจะสิ้นพิภพ

อัครสาวกได้สร้างตำแหน่ง 'สังฆานุกร' (โปรแตสแตนท์เรียกว่า ผู้ช่วยงานพิธี) ตามพระวจนะที่ว่า "แล้วเราจะแต่งตั้งเขาให้ทำหน้าที่แจกอาหาร เขานำคนทั้งเจ็ดคนมาอยู่ต่อหน้าบรรดาอัครสาวกซึ่งอธิษฐานภาวนาและปกมือเหนือเขา" (กิจการ 6:2-6) ซึ่งสังฆานุกรถูกเลือกมาจากบรรดาสานุศิษย์มาเพื่อทำหน้าที่บริการคนยากจน

ในสมัยยุคเริ่มต้นของพระศาสนจักร ตำแหน่ง 'พระสงฆ์' ถูกเรียกว่า 'ผู้อาวุโส' ตามที่เปโตรซึ่งเป็นศิลาของพระศาสนจักรได้ผูกเอาไว้ในพระธรรมกิจการ 1 เปโตร 5:1-3 ซึ่งทำให้ผู้อาวุโสต้องมีหน้าที่อภิบาลดูแลฝูงแกะ ประกาศข่าวดี และ เพราะอัครสาวกเปโตรได้ส่งมอบหน้าที่สำคัญ คือ การประกอบพิธีมหาสนิทให้แก่ผู้อาวุโสเป็นผู้กระทำ รวมถึงศีลศักดิ์สิทธิ์ที่เหลือทั้งหมดในฐานะผู้แทนในการทำงานของพระคริสตเจ้า (ทำงานตามพันธกิจหน้าที่) พระสงฆ์จึงต้องมีชีวิตที่เลียนแบบอัครสาวกด้วย คือ ถือความบริสุทธิ์ ถือความนบนอบ (ให้พระเจ้าใช้งานได้ทุกอย่าง) และ ถือความยากจน (ไม่ติดในโลก)

ด้วยเหตุเรื่องคุณสมบัติที่ถูกต้องชอบธรรมในการประกอบพิธีมหาสนิทตามที่พระเยซูเจ้าเป็นผู้คัดเลือกคนงาน ผู้ที่เหมาะสมจึงต้องเป็นนักบวช มิใช่ ชายใดก็ได้ซึ่งมีครอบครัว มีความกังวลในการจะไปถิ่นทุรกันดาร (เพราะกลัวภรรยาไม่พอใจ) มีความมุ่งหวังในการเงิน (เพราะต้องใช้เลี้ยงดูภรรยาและบุตร)

ในกลุ่มนักบวชด้วยกันเอง ก็จะมีผู้ที่เหมาะสมที่จะเป็นหัวหน้าเพื่อการปกครอง พระศาสจักรจึงกำหนดตำแหน่ง พระสังฆราช (หัวหน้าของบรรดานักบวช หรือ อัครสาวก) สำหรับผู้ที่จะใช้ชีวิตเลียนแบบพระเยซูคริสต์อย่างสมบูรณ์ ในฐานะผู้แทนการทำงานที่พระเยซูคริสต์ทรงมอบให้ไว้ เพื่อทำหน้าที่สั่งสอนความเชื่อ ปกครอง และ อภิบาลกลุ่มคริสตชนในภาพรวม

ดังนั้น หัวหน้าของนักบวชจึงสืบต่ออำนาจจากอัครสาวก เพื่อให้พระศาสนจักรดำรงอยู่เป็นนิจ มีหน้าที่ในการโปรดศีลบวชให้แก่นักบวชเพื่อเป็นพระสงฆ์ โดยพระสงฆ์มีผู้ช่วยงานพิธีที่เรียกว่าสังฆานุกร

ศีลบวชจึงเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูเจ้าตั้งขึ้น โดยให้อัครสาวกทำหน้าที่เลือกสาวกที่เหมาะสมให้ขึ้นมาเป็นหัวหน้า (คือ พระสังฆราช) ของกลุ่มสาวก (คือ คริสตจักรที่เกิดขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ และกระจายออกไป) เพื่อให้หัวหน้าสืบทอดอำนาจศักดิ์สิทธิ์และปกครองบรรดาสาวก (คือ พระสงฆ์) ที่อยู่ภายใต้การปกครอง ทำหน้าที่ประกาศข่าวประเสริฐ โปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 7 แก่บรรดาสัตบุรุษ (คือ ผู้ศรัทธาทั่วไป) โดยมีผู้ช่วยพระสงฆ์ (คือ สังฆานุกร) เป็นผู้ช่วยงานปลีกย่อยในการประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์



ศีลสมรส (Martrimony)

ศีลสมรสเป็นไปตามพระวจนะ "ชายจะละบิดามารดาไปสนิทอยู่กับภรรยาของตนและชายหญิงจะเป็นเนื้อเดียวกัน" (มัทธิว 19:5-6) ศีลสมรสของพระศาสนจักรคาทอลิกประกอบให้กับชายและหญิงตามเพศกำเนิดเท่านั้น เพราะศีลสมรสมีจุดประสงค์เดียว คือ เพื่อให้มีบุตร ผู้ที่จะเข้ารับศีลสมรสจะต้องเข้าอบรมศีลสมรสเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเข้าใจถึงบทบาทของคู่ชีวิต หน้าที่ของการมีบุตร และ หน้าที่ของการเป็นพ่อแม่

ศีลสมรสมีความพิเศษที่ว่า คู่สมรสเป็นผู้ประกอบพิธีสมรสแก่กันและกัน โดยมีพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้แทนของพระศาสนจักรเป็นพยาน โดยผูัที่จะเข้ารับศีลสมรสได้จะต้องมี 3 สิ่งครบถ้วน คือ
  1. ความรัก เป็นพื้นฐานในการใช้ชีวิตร่วมกันจนกว่าจะตายจากกัน
  2. อิสระ ในการเลือกคู่ชีวิตในการแต่งงาน และ ห้ามคลุมถุงชน
  3. เจตนาจะมีบุตรและยอมรับบุตรที่เกิดมา
ศีลสมรสมีความศักดิ์สิทธ์อย่างยิ่ง หากมีไม่ครบ 3 ข้อ พระศาสนจักรจะไม่ประกอบศีลสมรสให้ (คือ เข้าร่วมเป็นพยาน) และ เมื่อได้รับศีลสมรสแล้วจึงไม่สามารถหย่าร้างได้ เพราะได้กล่าวสัญญาต่อกันและกันแล้วว่า 'จนกว่าชีวิตจะหาไม่' ตามพระวจนะที่ว่า "สิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันเอาไว้ มนุษย์อย่าได้แยกเลย" (มัทธิว 19:5-6)



ศีลเจิมคนไข้ (Anointing of the Sick)

เดิมทีพระศาสนจักรเรียกศีลนี้ว่า 'ศีลทางสุดท้าย' ซึ่งก็หมายถึงการเตรียมตัวเดินทางไปสู่ความตาย เพราะผู้ที่จะได้รับศีลนี้ ก็คือ ผู้ที่กำลังจะตายนั่นเอง แต่ไม่ได้มีความหมายแบบนั้นเสมอไป เพราะศีลศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูทรงตั้งขึ้นนี้ ก็เพื่อประทานพละกำลังแก่ผู้สูงอายุ หรือ ผู้เจ็บป่วย จะได้ต่อสู้กับความยากลำบากนั้นด้วยความพากเพียร พระจิตเจ้าเองจะบรรเทาความเจ็บป่วยของกายและความอ่อนล้าของจิตวิญญาณด้วย และ ยังชำระวิญญาณให้บริสุทธิ์ หากผู้นั้นใกล้จะตาย เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สวรรค์ ตามพระวจนะ "ในนามของเรา เขาจะปกมือเหนือคนเจ็บและคนเจ็บเหล่านั้นก็จะหายจากโรคภัย" (มาระโก 16:17-18)

ดังนั้น ผู้ที่รับศีลเจิมคนไข้จึงเป็นเด็กที่เจ็บป่วยทั่วไปก็ได้ เพื่อช่วยบรรเทาฝ่ายกายและวิญญาณ และสำหรับผู้ที่อยู่ในวาระใกล้จะตายสมควรจะได้รับศีลเสบียงสุดท้าย คือ การได้รับศีลมหาสนิท (รับพระกายและพระโลหิต) เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อช่วยให้วิญญาณได้ติดสนิทกับพระเยซูคริสต์ ก่อนจะเดินทางไปแดนผู้ตาย



สัตบุรุษ

แชร์ 471



เรื่องเกี่ยวข้องจากโซเชียล

facebook-logo-svgrepo-com.svg
facebook-logo-svgrepo-com.svg
คลิก  เพิ่มเพื่อน  รับข่าวแวดวงคาทอลิกถึงหน้าจอ