สาระพระคัมภีร์
ตามความเชื่อของคริสตชน องค์พระเยซูเจ้า ถือเป็นศูนย์กลางของประวัติศาสตร์แห่งความรอด เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ทรงอยู่ระหว่างกลางเหตุการณ์ของ ประชากรอิสราเอลในพันธสัญญาเดิม ("ยิวโบราณ") และประชากรอิสราเอลในพันธสัญญาใหม่ หรือ "คริสตชน" พระคัมภีร์จึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ภาคใหญ่ๆ คือ
พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ( The Old Testament ) (46 เล่ม)
- บรรยายทุกสิ่งที่พระเจ้าได้ตรัสและทรงกระทำก่อนการเสด็จมาของพระคริสต เจ้า เป็นการเตรียมชาติที่เลือกสรรสำหรับภารกิจของพระคริสตเจ้า ประเด็นพิเศษของพันธสัญญาเดิม มีจุดสุดยอดที่พันธสัญญาใหม่ ประชากรของพระเจ้าในพันธสัญญาเดิมจึงเป็นผู้เดินนำหน้า และเป็นพื้นฐานให้เกิดมีประชากรของพระเจ้าในพันธสัญญาใหม่
ภาคพันธสัญญาใหม่ ( The New Testament ) (27 เล่ม)
- บอกให้ทราบถึงเรื่องของพระคริสตเจ้า ชีวิต และภารกิจของพระองค์ รวมทั้งชีวิตของคริสตชนกลุ่มแรกๆด้วย
ภาคพันธสัญญาเดิม ( The Old Testament )
- พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม ต้นฉบับดั้งเดิมเขียนเป็นภาษาฮีบรู และอาราเมอิค ซึ่งเป็นภาษาโบราณของยิว อาลักษณ์ยิวจะคัดลอกวรรณกรรมศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ เป็นระยะๆ เนื่องจากความไม่คงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ดังนั้น ก่อน ค.ศ. 1947 พันธสัญญาเดิมภาษาฮีบรูฉบับคัดลอกเก่าแก่ที่สุดที่หลงเหลืออยู่ได้คัดลอก ขึ้นในคริสตศตวรรษที่ 9 และ 10 ซึ่งประกอบด้วยหนังสือ 5 เล่มแรก ที่เรียกว่า "ปัญจบรรพ" ต่อมาในปี 1947 นักโบราณคดีได้ค้นพบฉบับ "ม้วนทะเลตาย" ซึ่งเป็นฉบับคัดลอกเก่าแก่ของชาวนิคมคุมราน แต่ละฉบับนั้นเก่าแก่กว่าฉบับคัดลอกในศตวรรษที่ 9 ถึง 1,000 ปี และมีพันธสัญญาเดิมครบทุกเล่มยกเว้น เอสเธอร์ การค้นพบครั้งนี้ นับได้ว่า เป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของพระคัมภีร์ ต่อมา ได้มีการแปลพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมนี้ เป็นภาษาต่างๆ ฉบับแปลที่สำคัญที่สุดเป็นฉบับภาษากรีก เรียกว่า ฉบับ "สารบบ 70 หรือ เซ็พทัวจินส์ (LXX : The Septuagint)" ซึ่งช่วยให้ความหมายที่คลุมเครือในฉบับฮีบรูบางตอนชัดเจนขึ้น
พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมทั้ง 46 เล่ม แบ่งออกได้เป็น 4 ภาคใหญ่ๆ ได้แก่
1. ปัญจบรรพ (The Pentateuch)
- ปัญจบรรพ ประกอบขึ้นด้วยหนังสือ 5 เล่มแรกของพระคัมภีร์ เป็นหนังสือที่กล่าวถึงพระประสงค์ของพระเจ้าที่มีต่อประชากรของพระองค์ ประกอบด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างพิภพจักรวาล การก่อตั้งกลุ่มประชากรของพระองค์รวมทั้งกฎบัญญัติ ที่เกี่ยวกับการประพฤติของประชากรของพระองค์ด้วย มีลักษณะเป็น "ตำนานธรรม (Myths)" กล่าวคือ มีวิธีการเล่าโดยใช้ภาษาสัญลักษณ์เป็นส่วนมาก แต่มีเค้าของเหตุการณ์จริงแฝงอยู่เบื้องหลัง ผู้อ่านจึงจำเป็นต้องเข้าใจภูมิหลังของวรรณกรรมประเภทนี้ และพยายามตีความหมายของสัญลักษณ์ให้เข้าใจความหมายที่แฝงอยู่
2. หนังสือประวัติศาสตร์ (The Historical Books)
- เป็นหนังสือที่บรรยายถึงความยุ่งยากลำบากที่ประชากรอิสราเอลได้รับ หลังจากเข้าสู่ดินแดนแห่งพระสัญญา และต้องก่อตั้งชาติของตนเอง ทั้งยังกล่าวถึงความสำเร็จ และสัมฤทธิ์ผลแห่งการกระทำของพวกเขาอีกด้วย หนังสือประวัติศาสตร์ยังทำให้เราได้รู้จักบรรดาผู้นำ ซึ่งชนชาตินี้ได้รู้จักมาตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของพวกเขา ยิ่งกว่านั้น เรายังได้รู้ว่า ความไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้านั้น สามารถนำความพินาศมาสู่ชาติได้
3. หนังสือปรีชาญาณ ( The Wisdom Books)
- หนังสือเหล่านี้ประกอบด้วยถ้อยคำประเทืองปัญญามากมาย แม้ว่าจะได้เขียนไว้หลายศตวรรษล่วงมาแล้วก็ตาม แต่ แต่ยังเป็นข้อความที่น่ายึดถือสำหรับคนในยุคปัจจุบัน
4. หนังสือประกาศก (The Prophetic Books)
- บรรดาประกาศกจะปรากฏตัวขึ้น เมื่อประเทศชาติมีความอ่อนแอและตกอยู่ในเงื้อมมือของชนต่างชาติ ประกาศกจะเป็นผู้ที่คอยตักเตือนประชาชน เพราะบาปและความไม่ซื่อสัตย์ของพวกเขาต่อพระเจ้า บรรดาประกาศกจะตักเตือนให้พวกเขากลับใจ เปลี่ยนแปลงความประพฤติให้ดีขึ้น และในบางครั้งก็ปลอบบรรเทาใจให้ประชาชน ที่อยู่ในความทุกข์ทรมาน ได้มีกำลังใจ และมั่นใจในพระทัยดีที่ไม่เปลี่ยนแปลงของพระเจ้า รวมทั้งทำให้ประชาชนเหล่านั้นระลึกถึงพระสัญญาของพระองค์ที่จะทรงส่งพระผู้ ไถ่มากอบกู้โลก
พระคัมภีร์สารบบที่สอง (Deutero-canonical)
- ในบรรดาพระคัมภีร์ทั้ง 46 เล่ม นี้ มีกลุ่มหนังสืออยู่กลุ่มหนึ่ง ที่มีบ้างไม่มีบ้างในต้นฉบับเดิมภาษาฮีบรู แต่มีปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกครบถ้วน เรียกกลุ่มหนังสือนี้ว่า "พระคัมภีร์สารบบที่สอง (Deuterocanonical)" พระศาสนจักรคาทอลิก ซึ่งเดินตามสารบบ 70 หรือ เซ็พทัวจินส์ จึงยอมรับว่า พระคัมภีร์สารบบที่สอง เป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมด้วย โดยถือว่าเป็นสะพานเชื่อมระหว่างพันธสัญญาเดิมกับพันธสัญญาใหม่
ภาคพันธสัญญาใหม่ ( The New Testament )
- พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ต้นฉบับดั้งเดิมเขียนเป็นภาษากรีก กล่าวถึง พระสัญญาที่พระเจ้าทรงให้ไว้ในพันธสัญญาเดิม ว่าจะสำเร็จสมบูรณ์ในองค์พระเยซูเจ้าได้อย่างไร พันธสัญญาใหม่ยังได้นำข่าวดีของพระเจ้ามาถึงมนุษย์เราด้วย เมื่อองค์พระบุตร เสด็จมาทรงทำพันธสัญญาเองเช่นนี้ พันธสัญญาของพระองค์ย่อมจะมีค่าคุ้มได้ตลอดกาล โดยไม่ต้องการพันธสัญญาอื่นมาเสริม หรือมาแทนอีกแล้ว คริสตชนไม่ต้องรอคอยพันธะสัญญาอื่นที่สมบูรณ์กว่า แต่รอคอยการเสด็จกลับมาครั้งที่ 2 ของพระคริสต์ ในวันพิพากษาประมวลพร้อม
พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ แบ่งออกได้เป็นส่วนต่างๆ 4 ส่วน ได้แก่
1. พระวรสาร (Gospels)
- พระวรสารคือ หนังสือที่บอกให้เราทราบเกี่ยวกับชีวิต พระดำรัส และกิจการต่างๆ ของพระเยซูเจ้าตลอดพระชนมชีพ ข่าวดีแห่งความรอด การยอมรับการทรมานและการไถ่บาปของมนุษย์ การกลับคืนชีพอย่างรุ่งโรจน์ และการส่งพระจิตเจ้ามายังอัครสาวก พระวรสาร 3 เล่มคือ มัทธิว ลูกา และมาระโก มีใจความคล้ายกัน จึงเรียกว่า "พระวรสาร สหทรรศน์ (Synoptic)" ส่วนของยอห์น จะโดดเด่นออกมา อย่างไรก็ตาม พระวรสารทั้ง 4 ไม่ได้เรียบเรียงตามลำดับเวลา หรือเหตุการณ์ในชีวิตของพระเยซูเจ้า
2. กิจการอัครสาวก (The Acts of the Apostles)
- นิพนธ์โดยนักบุญลูกา จึงเป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องกับพระวรสารของนักบุญลูกา ในหนังสือนี้ ได้เน้นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรในยุคแรกเริ่มภายหลังการกลับ คืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า อัครสาวกได้เผยแพร่ข่าวดีของพระองค์ต่อมา โดยต้องประสบทั้ง การต้อนรับ การกีดกัน และการเบียดเบียนในรูปแบบต่างๆ ข้อน่าสังเกตคือ ในหนังสือกิจการอัครสาวก ไม่ได้กล่าวถึง "พิธีกรรม" ต่างๆ เช่นที่เกิดขึ้นในพระศาสนจักรยุคปัจจุบันเลย เพราะการชุมนุมของพระศาสนจักรในยุคเริ่มแรก เป็นเพียงการมาพบกันเพื่อระลึกถึง การเลี้ยง และการบิขนมปัง (ศีลมหาสนิท) ของพระเยซูเจ้าในคืนสุดท้ายก่อนสิ้นพระชนม์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มของพิธีบูชามิสซาในปัจจุบัน รวมทั้งมีการแบ่งปันเกี่ยวกับคำสอนและพระเกียรติคุณของพระเยซูเจ้า เพื่อส่งเสริมความเชื่อให้มั่นคงขึ้น และเพื่อให้มีคนกลับใจเพิ่มขึ้นเท่านั้น ส่วนพิธีกรรมที่เห็นในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาเป็นระยะๆหลายต่อหลายสมัย ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเข้าใจได้ถึงความหมายในทางปฏิบัติ
3. บทจดหมายอัครสาวก (The Apostolic Letters)
- นิพนธ์โดยนักบุญเปาโล 13 เล่ม ศิษย์ของน.เปาโล (ฮิบรู) น.ยากอบ น.เปโตร น.ยอห์น และน.ยูดา อัครสาวก โดยภาพรวมแล้ว บทจดหมายทั้ง 21 เล่ม นี้ ในยุคแรกเป็นเพียงการเขียนในลักษณะของจดหมายเพื่อจุดประสงค์ในการ บรรเทาใจ เตือนใจ ปลอบใจ ให้กำลังใจกับคริสตชนรุ่นแรกที่ความเชื่อยังไม่มั่นคง เนื่องจากถูกเบียดเบียน และเพื่อเพิ่มพูนความเชื่อ บำรุงศรัทธา ต่อมาภายหลังจึงถือว่าเป็นพระวาจาของพระเจ้า เพื่อเป็นบทสอนในด้านจิตใจต่อไป
4. หนังสือวิวรณ์ (The Book of Revelation)
- นิพนธ์โดยนักบุญยอห์น อัครสาวก ตามพระคัมภีร์กล่าวว่า น.ยอห์นได้นิพนธ์ขึ้นตามนิมิตของท่าน และเป็นภาษาสัญลักษณ์ทั้งหมด จิตตารมณ์ของการเขียนหนังสือวิวรณ์คือ ต้องการให้มนุษย์ตั้งตนในความไม่ประมาท และพร้อมที่จะพบกับพระเป็นเจ้าเสมอ ความวางใจต่อพระเป็นเจ้า ให้ผู้ที่ถูกเบียดเบียนได้มีความหวัง และได้รับความรอด ไม่ใช่ การทำนายถึงวันสิ้นโลก หรืออวสานของโลกอย่างที่หลายคนเข้าใจ และเกิดความกลัวจากการตีความภาษาสัญลักษณ์อย่างตรงไปตรงมาเกินไป
เก็บตกเรื่องราวดีดีจาก http://www.kamsonbkk.com